แนวคิดในการออกแบบ
ร้านอาหาร The GOAT (Greatest of all time) อยู่ชั้น 1 ของอาคาร Wan Yu Mansion ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในซอยเล็กๆของเอกมัยซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ ด้วยความที่ได้เติบโตคุ้นเคยกับย่านนี้เป็นอย่างดี เชฟแทน (ภากร โกสิยพงษ์) และเพื่อนๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้จะเรียกตัวเองเล่นๆว่า “Ekamian” ซึ่งแปลว่าชาวเอกมัย
หลังจากที่ได้เดินทางไปหาประสบการณ์ในประเทศต่างๆ เชฟก็ได้กลับมาทำงานร้านอาหารที่จังหวัดพังงาซึ่งเป็นสถานที่ๆเชฟรู้สึกผูกพันเป็นอย่างมาก และต่อมาเมื่อเชฟย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงมีความต้องการสร้างบ้านหนึ่งหลัง ที่มีร้านอาหารของตัวเอง และมีส่วนที่แบ่งเป็นห้องพักแบบ B&B (Bed and Breakfast) อีกด้วย
เสน่ห์ของรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส จากดินแดนทางใต้ เป็นความประทับใจของเชฟแทน เพราะทำให้นึกถึงประสบการณ์ดีๆ ที่นั่น ที่ได้เริ่มสิ่งใหม่ๆ เกิดแนวทางการสร้างสรรค์อาหารที่เป็นแบบฉบับของเชฟเองที่เรียกว่า Off Beat Asian Cuisine ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางผ่านวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารด้วยเทคนิคการทำอาหารที่ไม่จำกัดวิธีการ ที่ถึงแม้บางครั้งเชฟอาจใช้เทคนิคแบบตะวันตก แต่อาหารก็ได้รสชาติแบบตะวันออก เช่นเดียวกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมของ Wan Yu Mansion ที่เรียกว่า “Ekamian Chino-portuguese” อันเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีน ยุโรป และความเป็นเอกมัยเข้าไว้ด้วยกัน
ส่วนงาน Interior design
เชฟเจ้าของร้านที่เคยมีประสบการณ์การทำงานอยู่ที่พังงา ชื่นชอบแนวชิโนโปรตุกีส งานออกแบบตกแต่งภายในร้านอาหารจึงมีแนวความคิดในการออกแบบเป็นลูกผสมระหว่างฝรั่ง (โปรตุเกส) กับจีน (มากับงานสถาปัตยกรรม) ร้านอาหารเป็นแนว Chef’s table จึงมีพื้นที่รับประทานอาหารไม่มาก เนื่องด้วยตัวแปลนมีการแบ่งพื้นที่ลิฟต์ขึ้นห้องพักของโครงการ Wan Yu (ภายในอาคารเดียวกัน) กินพื้นที่เข้ามาในร้าน ทำให้ร้านถูกแบ่งออกเป็นสองโซน โดยใช้ส่วนพื้นที่หลังลิฟต์นี้ทำเป็นซุ้มโค้งใช้ในการเชื่อมทั้งสองโซน
เก่าแก่ แต่น่าจดจำ
โจทย์เจ้าของร้านที่ให้กับทาง Interior คืออยากให้ดูมีความเก่าแต่สอดแทรก Gimmic บางอย่างในงาน และได้กำหนดสีมาให้คือสีน้ำเงินอมเขียว
ในโซนแรกจากทางเข้าจะมีโต๊ะรับประทานอาหารยาวเหมือนเป็นที่นั่งชมเชฟรังสรรค์อาหาร ผนังครัวเหมือนโดนทุบเปิดโล่งให้เห็นกิจกรรมภายในครัว ส่วนบรรยากาศร้านในรูปแบบฝรั่งผสมจีนนั้น จุดเด่นของร้านคือออกแบบฝ้าเพดานเหมือนโครงสร้างไม้ห้องแถวโบราณ และใช้โคมไฟตั้งพื้นของเก่าจากยุโรปหลากหลายรูปแบบมาติดห้อยกลับหัว และเปลี่ยนสีผ้าบุโคมไฟให้ดูมีสีสัน จัดวางแบบกระจาย แต่ยังได้ Function เรื่องของแสงสว่างที่ลงโต๊ะอาหาร
ผนังหน้าซุ้มที่ตั้งใจว่าน่าจะมีภาพเขียนแนวจีนที่เล่าเรื่องราวเชฟเจ้าของร้าน ก็ได้ศิลปิน Pabaja (ภาวิษา มีศรีนนท์) มาสร้างสรรค์ผลงานให้ โดยปริ้นลงบนผ้าแล้วซ่อนไฟเพื่อสร้างอารมณ์อีกแบบในยามค่ำคืน
รอดผ่านซุ้มโค้งเข้าไปในโซนรับประทานอาหารด้านใน เป็นส่วนเชื่อมต่อกับห้องน้ำ และล็อบบี้ของโครงการ Wan Yu โซนนี้ต้องการเปลี่ยนทั้งโครงสีและวัสดุต่างจากโซนแรก เพื่อสร้างบรรยากาศที่แตกต่างให้กับลูกค้าโดยใช้ผนังอิฐก่อโดยรอบ แต่งผิวและสีโดยศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับผนังโดยเฉพาะ ส่วนเพดานบุแผ่นดีบุกปั๊มลายนูนแบบโบราณ จัดระดับสูงต่ำแตกต่างกัน และปริ้นรูปแผ่นดีบุกทำเป็นกล่องไฟ เพื่อให้เห็นถึงความเก่าและใหม่คละกันไป
ส่วนงานออกแบบแสงสว่าง
เพื่อให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายในของ The GOAT การให้แสงสว่างของโครงการจะเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีการให้แสงแบบดั้งเดิมผ่านโคมไฟตกแต่งรูปแบบต่างๆ (decorative lighting) และวิธีการแบบ architectural lighting ซึ่งหมายถึงการให้แสงเพื่อส่งเสริมให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายในเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหาร เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ architectural lighting เป็นตัวสนับสนุนโคมไฟตกแต่ง ให้เสมือนหนึ่งว่าแสงสว่างภายในร้านเกิดจากโคมไฟตกแต่งอย่างเดียว
แนวคิดในการออกแบบแสงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การนำรูปแบบที่มีอยู่เดิมมาหาวิธีนำเสนอใหม่ให้แปลกตา เพิ่มประโยชน์ใช้สอย หรือสนุกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความ “offbeat” ของ The GOAT เช่น การดัดแปลงโคมไฟตั้งพื้นที่ห้อยกลับหัวซึ่งเป็นจุดเด่นของงานตกแต่งภายในให้ทำหน้าที่เป็น downlight ไปในเวลาเดียวกัน การดัดแปลงแจกันเซรามิคให้เป็นโคมไฟผนังที่ประตูทางเข้าโครงการ การสร้างเรื่องราวบนผนังด้านหนึ่งของโครงการให้คล้ายกับใบหลิวที่กำลังปลิวตามสายลม เป็นต้น
Reviews
There are no reviews yet.