แนวคิดในการออกแบบ
โครงการ ”หัวหมาก09” เป็นอาคารที่ตั้งใจคลี่คลายแนวคิดด้านสถาปัยกรรมร่วมสมัยในเขตร้อนชื้น พร้อมทั้งตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองเมื่อต้องเผชิญกับสภาวการณ์ของกรุงเทพฯในปัจจุบัน กล่าวคือในสภาพที่ราคาที่ดินพุ่งสูงจนที่ดินมีขนาดเล็ดลงมาก ปัญหาการจราจรติดขัดที่เรื้อรัง ความพยายามลดการใช้พลังงานของคนเมือง ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิตครอบครัวใหม่ที่ต้องมีความยืดหยุ่นสูงระหว่างเรื่องการทํางานและความเป็นส่วนตัว
โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงหัวหมากเขตบางกะปิซึ่งถ้าเรามองจากผังโครงสร้างของเมืองกรุงเทพ พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นเหมือนรอยต่อของเมืองและส่วนต่อขยายของเมืองทางด้านทิศตะวันออก โดยที่ดินแปลงนี้เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านจัดสรรเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อเจ้าของพิจารณาจากสภาพอาคารเดิมที่ติดมากับที่ดิน ประกอบกับความต้องการใช้สอยใหม่ๆที่มากขึ้น จึงทําให้ต้องตัดสินใจรื้ออาคารเก่าทิ้งและสร้างเป็นอาคารใหม่ที่มีรูปแบบการใช้สอยหลายประเภทรวมอยู่ด้วยกัน
ซึ่งแนวคิดเริ่มต้นที่ผู้ออกแบบวางไว้สําหรับอาคารนี้คือ “ศิลปะแห่งการอยู่อาศัยร่วมกับเวลา” เนื่องด้วยผู้ออกแบบต้องการนําเสนอความรู้สึกและความผูกพันที่ผู้ใช้อาคารมีอายุไปพร้อมๆกับอายุของบ้าน ต้องการให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยเป็นไปอย่างเรียบง่าย และที่สําคัญต้องการให้ทุกคนที่เข้ามาในที่ดินแปลงนี้ได้มีความสุข และมีแรงบันดาลใจจากความสวยงามของอากาศแบบร้อนชื้นในแต่ละฤดูกาล
จากแนวคิดดังกล่าว ผังบริเวณจึงถูกแบ่งพื้นที่ประมาณ 40% ทางด้านทิศเหนือของที่ดินให้เป็นพื้นที่สีเขียวสําหรับสวนซึ่งจะประกอบไปด้วยบ่อน้ำและต้นไม้นานาชนิดแบบเขตร้อนชื้น แล้วพื้นที่ส่วนที่เหลือก็เอาความต้องการมาจัดการซ้อนชั้นกันในแนวตั้งแทน โดยจัดวางทิศทางของอาคารให้ขวางลม หันช่องเปิดขนาดใหญ่ๆไปทางสวนเพื่อรับแสงและความสบายตา
ซึ่งรายละเอียดการออกแบบอาคารหลังนี้แบ่งได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆคือ
- ลักษณะรูปทรงและผังอาคาร
- การเลือกใช้วัสดุและเทคนิกการก่อสร้าง
- การออกแบบพื้นที่สีเขียว
ลักษณะรูปทรงและผังอาคาร
หัวข้อแรก รูปทรงอาคารหลังนี้ออกแบบให้ดูเรียบและเข้าใจง่าย คือมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมทรงสูงสีคอนกรีตวางอยู่บนฐานแนวนอนสีขาวที่วางทอดตลอดแนวความกว้างที่ดิน ซึ่งพื้นที่ใช้สอยถูกจัดสรรจากล่างขึ้นบนโดยแบ่งเป็นลําดับดังนี้
- ชั้นแรกเป็นพื้นที่สําหรับสํานักงานสถาปนิก
- ชั้น 2 และ 3 ใช้เป็นที่พักอาศัย
- ชั้น 4 จัดให้เป็นพื้นที่สําหรับผลิตและเก็บงานศิลปะซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นมากเพราะในอนาคตพื้นที่ชั้นนี้ต้องสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของสมาชิกใหม่ในครอบครัวได้
จากการแบ่งชั้นดังกล่าวทําให้แบบผังพื้นอาคารกําหนดให้บันไดซึ่งมีลักษณะทอดยาววางอยู่ตลอดแนวทิศใต้เพื่อใช้ป้องกันความร้อนจากแสงแดดช่วงกลางวัน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างช่องเปิดขนาดเล็กตามชานพักบันไดเพื่อดักลมเข้าบ้าน ส่วนพื้นที่ใช้สอยจะวางอยู่ทางทิศเหนือพร้อมกับสร้างช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อรับแสง พร้อมสร้างแรงดูดของลมจากทางทิศใต้ ซึ่งจะทําให้การไหลเวียนของอากาศเป็นไปอย่างสมําฎเสมอจากลมธรรมชาติ
ส่งผลให้อาคารลดปริมาณการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลือกใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง
หัวข้อถัดมาคือเรื่องการเลือกใช้วัสดุสําหรับผิวภายนอกของอาคารหลังนี้ ผู้ออกแบบมีความตั้งใจให้ผิวภายนอกเป็นกําแพงที่ก่อด้วยซีเมนต์บล๊อกซึ่งเป็นวัสดุผิวหยาบ สีสันเปลี่ยนแปลงไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดูกาล ราคาไม่แพง และจะเกิดคราบตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้เมื่อผนังซีเมนต์บล๊อกถูกวางเปรียบเทียบกับผนังผิวเรียบสีสะอาดที่อยู่ภายในอาคาร ก็ทําให้ภาพการมองดูมีความน่าสนใจขึ้นมาทันทีและยิ่งไปกว่านั้นในมุมของวิธีการก่อสร้าง กําแพงลักษณะนี้จะต้องสร้างให้เป็นผนังหนาสองชั้นโดยมีช่องว่างอากาศอยู่ระหว่างกลางไปโดยปริยาย ส่งผลให้กําแพงมีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนจากภายนอกได้เป็นอย่างดี
การออกแบบพื้นที่สีเขียว
หัวข้อสุดท้าย การออกแบบพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่สร้างความชุ่มเย็นของที่ดินและให้เป็นพื้นที่เพื่อความสบายตาสบายใจของอาคารหลังนี้ โดยผู้ออกแบบมีการวางแผนเรื่องจังหวะของบ่อน้ำ ลาน ทางเดิน และรูปทรงต้นไม้ให้เข้ากับลําดับการมองเห็นทางสถาปัตยกรรม และให้ล้อไปกับองค์ประกอบศิลป์ของทรงอาคาร ซึ่งได้ออกแบบสวนชั้นล่างให้มีลักษณะการเล่นระดับเป็นขั้นบันไดเพื่อเพิ่มมิติการมองของสวน และวางตําแหน่งสวนกระถางกระจายไปตามชั้นต่างๆ จนถึงดาดฟ้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางธรรมชาติจากล่างขึ้นบน
ทั้งนี้การเลือกและการจัดวางพันธุ์ไม้ก็เป็นไปอย่างปราณีตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการมองทั้งในแนวระนาบและการมองในแนว ตั้งที่เกิดขึ้นระหว่างชั้น อาทิกําแพงต้นไทรอินโดฯ บังสายตาจากโรงรถ กลุ่มกอหญ้าถอดปล้องตามขั้นบันไดเพื่อเพิ่มมิติของแสงในแต่ละช่วงเวลาของวัน ไม้พุ่มกลางอย่างต้นชุมแสงต้นจิกน้ำเพื่อสร้างร่มเงาและความร่มรื่น ต้นซิลเวอร์โอ๊คและต้นจันผาที่เน้นทรงฉลูดเพื่อเชื่อมมุมมองจากบนลงล่าง ตลอดจนต้นไม้เลื้อยที่วางแผนให้เกาะเลื้อยขึ้นและเกาะย้อยลงตามกําแพงเพื่อลดความรู้สึกกระด้างของผิวซีเมนต์บล๊อก
ผังพื้นชั้น 1
ผังพื้นชั้น 2
ผังพื้นชั้น 3
ผังพื้นชั้น 4
Reviews
There are no reviews yet.