บทความนี้ เราจะมาทำความรู้จัก Pocket Door หรือ ประตูเลื่อนซ่อนในผนังกัน ว่ามันคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่แบบไหน
Pocket Door คืออะไร
Pocket Door คือประตูบานเลื่อน ที่เมื่อเลื่อนเปิดจนสุดแล้ว ตัวประตูจะถูกซ่อนเข้าไปภายในผนัง เปิดเป็นช่องว่างให้เดินผ่านเข้าออกได้ มักนิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรมที่มีพื้นที่จำกัด ไม่พอเพียงสำหรับประตูบานเปิด
กลไกของประตูชนิดนี้ มักเลื่อนโดยล้อตามรางซึ่งอาจติดตั้งอยู่ด้านบน หรือด้านล่างบานประตู มีทั้งแบบบานเดี่ยวที่เลื่อนเปิดไปด้านเดียว และบานคู่ที่เปิดสไลด์ออก 2 ด้าน
ประตูแบบบานเปิดปกติ
ประตูแบบ Pocket Door
ความนิยม
ประตูเลื่อนซ่อนผนัง เคยเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ยุคสมัยปลายศตวรรษ 1800 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถาปัตยกรรมมแบบ Victorian Architecture กำลังเป็นที่นิยม และถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงช่วงประมาณปี 1920 ประตูบานเปิดทั่วไป ก็เริ่มถูกเข้ามาใช้แทนที่ เนื่องจากความง่ายในการติดตั้งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ด้วยการที่ “ปัจจัยด้านความประหยัดเนื้อที่ใช้สอย” ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ทำให้ประตูชนิดนี้ เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ประตูเลื่อนซ่อนผนังที่เคยเป็นดีไซน์ที่ถูกมองข้าม กลับได้ถูกนำมาใช้ในงานออกแบบภายในที่ทันสมัย ที่นอกจากประหยัดพื้นที่แล้ว ยังมีความโดดเด่น และสวยงาม
ประตูเลื่อนแบบซ่อนในผนังนี้ สามารถใช้แบ่งห้อง, แบ่งกันโซนพื้นที่ได้อย่างอิสระ, ประหยัดเนื้อที่ และมีดีไซน์ที่สวยงามมีสไตล์ เหมาะกับการใช้งานในบ้านพักอาศัย เพราะเลื่อนเปิดปิดได้อย่างนุ่มนวล ไม่ส่งเสียรบกวนเพราะอยู่ภายในผนัง
ลักษณะทั่วไป
ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง อาจจะไม่ได้ถูกพบเห็นบ่อยในบ้านพักอาศัยทั่วไป ทำให้หลายๆ คน อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าประตูชนิดนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร
อย่างแรกเลย คือการเปิดปิดนั้น จะเป็นการเลื่อนประตูตามรางไปด้านข้าง แทนที่จะเปิดปิดด้วยข้อต่อหมุนแบบประตูทั่วไป
เมื่อเปิดเลื่อนออกจนสุด ตัวบานประตูจะถูกซ่อนภายในผนัง ทำให้ดูเหมือนหายไป ไม่สามารถมองเห็นได้ ทำให้ประหยัดพื้นที่สำหรับวงสวิง ไว้สำหรับวางของ วางเฟอร์นิเจอร์ และยังเป็นการให้ความรู้สึกว่าห้องกว้างขึ้นด้วย
> อ่านบทความ 7 วิธีจัดห้องให้ดูกว้าง
ประตูเลื่อนซ่อนในผนังนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มสถาปนิก ด้วยความสามารถในการ Save พื้นที่นั่นเอง เพราะอย่างที่ทราบกันดี ว่าปัจจุบัน เนื้อที่ใช้สอยในเมืองใหญ่ๆ นั้น มีขนาดเล็กลง และราคาที่สูงขึ้น
ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูตัวอย่างประตูเลื่อนซ่อนในผนังสำหรับเป็นแรงบันดาลใจ ได้ที่เว็บ Architonic ซึ่งจะมีทั้งรูปภาพ และรูปการติดตั้งหลากโปรเจคโพสต์ไว้
วิธีการติดตั้ง
ในโปรเจค Renovate การติดตั้ง Pocket Door จำเป็นต้องมีการสร้างช่องว่างภายในกำแพงสำหรับซ่อนเข้าไป นั่นหมายความว่า การติดตั้งจะมีความซับซ้อนมากกว่าประตูธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการนั้นอาจจะทำได้ง่ายขึ้น ถ้าผู้ติดตั้งเข้าใจพื้นฐาน และดำเนินการได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยเว็บไซต์ แบบดีดี เรามีไกด์ไลน์คร่าวๆ ให้อ่านกันดังนี้
ต้องตรวจสอบผนังให้แน่ใจก่อนว่าสามารถติดตั้งได้จริง
ก่อนที่จะทำการทุบ หรือเจาะ ต้องตรวจสอบตัวผนังที่มีอยู่แล้วก่อน ว่าสามารถติดตั้งประตูเลื่อนซ่อนเข้าไปได้หรือไม่ เช่น
- เช็คว่ามีพื้นที่ภายในพอหรือไม่ (ต้องมีความกว้างพอให้ประตูเลื่อนเข้าไปเก็บซ่อนได้)
- เช็คว่าเป็นผนังที่รับน้ำหนักโครงสร้างอาคารอยู่หรือไม่ ถ้ามีการรับน้ำหนัก ระหว่างการติดตั้งประตู จำเป็นต้องมีการติดตั้งวัสดุค้ำยันไว้ Support โครงสร้างชั่วคราว
- เช็คว่ามีสายไฟ หรือท่อน้ำซ่อนอยู่ภายในอยู่แล้วหรือไม่ ถ้ามี ก็ไม่สามารถติดตั้งประตู ณ ตำแหน่งนี้
กำหนดตำแหน่งการติดตั้งให้แน่นอน
ต้องมีการกำหนดตำแหน่งของบานประตู และตำแหน่งที่จะเลื่อนเปิด ให้แน่นอนชัดเจน โดยการวัดระยะการเปิดปิดอย่างละเอียด
เจาะผนังเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับเปิดประตู
ทำการเจาะตัดพื้นที่ภายในผนังเพื่อรองรับประตูที่จะเลื่อนซ่อนเข้าไป ระหว่างดำเนินการ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันให้เรียบร้อย และมีการประกาศแจ้งเตือนพื้นที่โดยรอบขณะดำเนินการ
ติดตั้งกรอบประตู
เริ่มจากการติดตั้งรางเลื่อนที่ด้านบน หรือด้านล่าง ตามที่ต้องการ จากนั้นจึงติดตั้งวงกบเข้ากับราง
ติดตั้ง Hanger
ติดตั้ง Hanger หรือที่แขวนประตูที่ด้านหลังตัวบาน ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมประตูให้สามารถเลื่อนไปตามรางได้
ทดสอบการใช้งาน
ทดลองเลื่อนประตูเปิดเข้าสู่ภายในผนัง เพื่อทดสอบว่าสามารถใช้การได้อย่างลื่นไหล
ติดตั้งมือจับ
ติดตั้งมือจับประตู และอุปกรณ์อื่นๆ ตามต้องการ เช่น ตัวล็อค หรือสลัก
จบผนังโดยรอบตัวประตู
ทำการปิดผนังโดยรอบให้เรียบร้อย ด้วยการปะ, ทาสี และติดตั้งผนังเบาหรือฉาบปูนเพื่อซ่อนช่องว่างภายในให้สวยงาม
ฟังก์ชั่น และข้อดีต่องานออกแบบภายใน
นอกเหนือจากขั้นตอนการติดตั้งแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับ Pocket Door คือ ทางเลือก, ฟังก์ชั่น และข้อได้เปรียบในการใช้สอยในงานออกแบบภายในยุคโมเดิร์น เพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานดีไซน์โดยรวม
ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
อย่างที่ทราบกันดี ว่าประตูเลื่อนนั้นช่วยให้พื้นที่ใช้สอยถูกใช้งานได้เต็มที่มากขึ้น เพราะไม่ต้องเผื่อพื้นที่สำหรับวงสวิง โดยเมื่อเทียบกับประตูบานเปิดทั่วไปแล้ว ประตูเลื่อนซ่อนผนังหนึ่งบานนั้น ช่วยประหยัดพื้นที่ได้ประมาณ 0.9 – 1.0 ตร.ม.
นอกจากนี้ การซ่อนในประตูยังช่วยสร้างความรู้สึกสะอาด เรียบง่าย มินิมอล และทันสมัยอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ประตูชนิดนี้จึงเหมาะกับการใช้งานในหลายๆ ห้อง นอกเหนือจากตู้เสื้อผ้า, ห้องน้ำ และห้องนอนแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับห้องขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ห้องดูกว้างขวางกว่าประตูชนิดอื่นๆ ยิ่งขึ้น
ช่วยในการแบ่งกั้นห้อง
อีกหนึ่งข้อดีของประตูชนิดนี้ คือสามารถใช้แบ่งกั้นห้องได้ ถึงแม้ความกว้างของเส้นแบ่งนั้นจะมีระยะที่เยอะ ก็สามารถใช้ประตูสองบานใหญ่เลื่อนเข้าหากันได้เพื่อปิด Space แต่ละห้องแยกจากกัน
ปัจจุบัน ด้วย Lifestyles การอยู่อาศัยที่ต้องมีการปรับตัว และเน้นความยืดหยุ่นมากขึ้น การออกแบบพื้นที่แบบ Multifunction นั้นได้รับการนิยมเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย
ด้วยเหตุนี้ ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกท่จะช่วยเสริมความ Flexible และทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบในการแบ่งกั้น หรือเชื่อมต่อห้องต่างๆ สร้างความรู้สึกแบ่งแยก ในขณะที่ยังคงช่วยให้เปิดเข้าออกแต่ละห้องได้อย่างง่ายดายในพื้นที่แต่ละแห่งตามต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง แบบบานคู่นั้น สามารถช่วยกั้นระหว่าง ห้องนั่งเล่นและห้องทานอาหาร, ห้องนอนและห้องทำงาน และห้องอื่นๆ มากมาย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประตูชนิดนี้ ไม่สามารถปิดช่องเปิดได้มิดชิดเท่ากับประตูบานเปิดปิดทั่วไป จึงอาจจะมีปัญหาเรื่องเสียง กลิ่น และแสงเล็ดลอดข้ามไปมาระหว่างห้องบ้างเล็กน้อย ดังนั้น ผู้ออกแบบ อาจจะต้องคำนึง ถึงการเลือกใช้ประตูนี้ในตำแหน่งห้องที่เหมาะสม
สร้างความเป็นส่วนตัว
อินทีเรียยุคโมเดิร์น มักนิยมสร้างความโล่งโปร่งสบาย รวมถึงพื้นที่แบบ Open Space ซึ่งส่งผลให้ความเป็นส่วนตัวหรือ Privacy นั้นอาจจะถูกลดทอนและถูกคำนึงถึงน้อยลง
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเกิดเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตของ User บางกลุ่มที่ต้องการความสงบ เช่น การเรียน หรือทำงานออนไลน์ แบบ Work From Home เป็นต้น
ในขณะที่ ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง สามารถส่งเสริมการเชื่อมต่อของ Space สองแห่งเข้าหากันได้เมื่อทำการเปิดประตู แต่เมื่อปิดประตู ก็สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกั้นพื้นที่ระหว่าง 2 ห้อง ช่วยลดเสียง และการมองเห็นซึ่งกันและกัน
ถือเป็นประตูในอุดมคติสำหรับสร้างพื้นที่ส่วนตัวที่มีขนาดกว้างใหย๋ เช่น กั้นห้องนอนจาก Studio Apartment เป็นต้น
ด้วยความยืดหยุ่นนี้ เมื่อมีการใช้งาน Space โดยรวมเสร็จสิ้น เพียงแค่ปิดประตํูกั้น ก็สามารถแบ่ง Layer ความเป็นส่วนตัวออกมาเป็นอีก Zone หนึ่งได้อย่างง่ายดาย
ส่งเสริมงานดีไซน์
Pocket Door เป็นประตูที่โดดเด่น และมี Potential ที่จะถูกหยิบจับไปผสมผสานกับงานดีไซน์ที่หลากหลาย เพราะสามารถใช้ในพื้นที่ที่กว้าง และใช้วัสดุได้หลายทางเลือก เช่น ไม้, กระจก, โลหะ หรือจะผสมผสานกันก็ได้เช่นกัน และยังสามาระใช้ควบคู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น มือจับ หรือ ลูกบิด
ด้วยเหตุนี้ นักออกแบบจึงสามารถพัฒนางานดีไซน์ด้วยประตูบานเลื่อนซ่อนในผนัง ได้อย่างยืดหยุ่น ด้วยการสร้างความ Contrast กับผนังโดยรอบเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือจะสร้างความกลมกลืน ด้วยการออกแบบให้ตัวประตูดูมินิมอล เนียนตาไปกับตัวผนัง ก็ทำได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ประตูเลื่อนซอนในผนัง ยังสามารถสร้างรูปแบบ และสั่งผลิตพิเศษ ตามต้องการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น อาจจะทำให้มีขนาดใหญ่, เรียบ, โค้ง, บานเดี่ยว หรือบานคู่ ได้ตามต้องการ
พัฒนาการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ
ในส่วนของการพัฒนาการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของบ้านพักอาศัย ประตูชนิดนี้ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งานที่ต้องนั่งรถเข็น หรือพิการด้านอื่นๆ เพราะแทนที่จะต้องเอื้อมมือไปจบลูกบิดและเปิดประตูออก ผู้ใช้งานสามารถแค่เลื่อนเพื่อเปิดออกได้อย่างง่ายดาย และการซ่อนภายในผนัง ทำให้มีพื้นที่สำหรับ User ให้เคลื่อนตัวได้สะดวกขึ้น
แน่นอน ว่าการออกแบบ Spec ประตูนั้น ต้องถูกพิจารณาอย่างละเอียดว่าเหมาะสมกับ User ในรูปแบบต่างๆ แต่ประตูรูปแบบนี้ ก็ถือว่ามีปัจจัยให้คำนึงถึงน้อยกว่าประตูบานเปิดทั่วไป นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งมอเตอร์ และปุ่มสำหรับกดเปิดปิดอย่างอัตโนมัติได้ด้วย
ข้อเสีย ข้อควรระวัง
อย่างที่ทราบกันดี ว่าบนโลกนี้ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ เมื่อทราบถึงประโยชน์ของ Pocket Door กันแล้ว เรามาดูข้อเสีย หรือปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ถ้าจะเลือกใช้ประตูประเภทนี้กันบ้าง
เสียง กลิ่น และแสง
ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง อาจจะไม่ได้ปิดผนึกช่องเปิดได้แนบสนิทเท่ากับประตูบานเปิดปิดทั่วไป ส่งผลให้อาจจะป้องกันเสียงจากห้องสู่ห้องได้ไม่ดีเท่า นอกจากนี้ ยังป้องกันกลิ่นได้ไม่ค่อยดี จึงอาจจะไม่เหมาะกับใช้ในห้องน้ำ และห้องครัว และสุดท้าย ช่องว่างที่ไม่สนิทนั้น อาจทำให้มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้าได้บ้างเล็กน้อย
ความทนทาน
สำหรับประตูเลื่อนขนาด 32 นิ้ว จำเป็นต้องมีพื้นที่ความกว้างรองรับในการติดตั้งเป็น 2 เท่าของขนาด และประตูเหล่านี้จะถูกเลื่อนไปเก็บไวในผนัง และด้วยการที่จำเป็นต้องมีช่องว่างในผนัง แต่ภายในผนังนั้น จะไม่ได้มีการติดตั้ง Studs ทำให้ตัวประตูอาจจะโยกเยก ไม่เสถียรเล็กน้อย
ฟังก์ชั่น
ประตูเชื่อนซ่อนในผนัง นั้น ถ้าติดตั้งได้ไม่ดี อาจทำให้ตกลงมาจากรางเลื่อน หรือเลื่อนแล้วติดขัด รวมถึงการติดตั้งตัว Lock ก็ต้องอาศัยความชำนาญ และทดสอบหลายๆ ครั้งว่าใช้งานได้จริง
การใช้งาน
การเลื่อนเปิดประตูนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับผู้พิการทางแขน และมือ หรือผู้ป่วยข้ออักเสบ ดังนั้น สำหรับบ้าน ที่มี User เฉพาะทางเหล่านี้ จึงอาจจะจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับกด จับ หรือลดทอนการใช้งานให้ง่ายขึ้น หรือถ้ามีงบประมาณ ก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้วยการติดตั้งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า พร้อมปุ่มสำหรับกด ให้ประตูเลื่อนเปิดเองโดยอัตโนมัติ ก็ถือเป็นทางเลือกที่สะดวกขึ้น
50 ไอเดียสำหรับดีไซน์ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง
บทสรุป
หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านทุกคนได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับ Pocket Door หรือ ประตูเลื่อนซ่อนในผนัง ว่ามันคืออะไร มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง โดยปัจจุบันประตูประเภทนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะถูกหยิบจับมาใช้กับงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว สวยงาม และประหยัดพื้นที่