แนวคิดในการออกแบบ
ส่วนงานอินทีเรีย
ผมเป็นดีไซเนอร์ที่เข้ามาในโปรเจคนี้หลังจากที่อาคารสร้างเสร็จแล้ว สภาพภายในอาคารเหมือนจะเสร็จแต่ไม่เสร็จ การออกแบบตกแต่งภายในเป็นการสานต่อแนวคิดของคุณสุริยะ
อัมพันศิริรัตน์ ซึ่งเป็นสถาปนิก กับความต้องการต่างๆของทางลูกค้า เลยกลายเป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเป็นหลัก โดยมีเงื่อนไขว่าไม่รื้อหรือทุบสิ่งที่ได้ก่อสร้างไปแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่ทำคือการเติมเข้าไปมากกว่า
ชั้นล่างสุด
เริ่มจากชั้นล่าง เป็นส่วนของร้านอาหาร และส่วนขายขนมเปี๊ยะ โจทย์คือสีเขียวซึ่งเป็นตัวแทนของหยกในไอเดียของสถาปนิก ถูกทาไปทั่วภายในอาคารไว้แล้ว ผมอยากจะแทนค่าสีแดงซึ่งสีมงคลสำหรับคนจีนเข้าไปในงานออกแบบ ซึ่งสีแดงกับสีเขียวเป็นสีคู่ตรงข้ามกัน โดยส่วนตัวผมมีปัญหาเรื่องสีคู่ตรงข้ามคู่นี้เป็นพิเศษเมื่อถูกใช้พร้อมกัน การมองผ่านสีคู่นี้จะเกิดการทับซ้อนของภาพแบบไม่สบายตา ผมเลยเสนอลูกค้าไปว่าขอไม่เอาอะไรที่เป็นสีแดงไปทับบนผนังสีเขียว โดยสีแดงไปใช้กับอื่นแทน เช่น โคมไฟห้อย , นกสีแดงในกรง และปลอกหมอน
เวลาเรามองจากข้างนอกเข้าไปข้างใน เราจะเห็นสีแดงกระจายเป็นจุดๆบนพื้นสีเขียว แต่พอเราเข้ามาข้างใน สีแดงและเขียวจะถูกการแยกระนาบของสีออกอย่างชัดเจน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางสายตา
เดิมพื้นที่ชั้นล่างไม่ได้เตรียมงานระบบส่วนบาร์เครื่องดื่มไว้ จึงต้องหาทางแก้ปัญหาและกำหนดจุดวางบาร์ใหม่ โดยออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้เรียบเป็นกล่องโลหะสี่เหลี่ยมขนาดยาวสีทอง สีทองเป็นอีกสีหนึ่งที่อยากนำมาใช้ให้ครบสีมงคลของจีนในร้าน คือ เขียว แดง ทอง
ลูกเล่นอื่นๆที่มาเสริมความเป็นจีน เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่เราออกแบบมาเป็นทรงจีนที่ตัดทอนรายละเอียดออกแล้ว หรือ กรงนกไม้ของจีนจำนวน 9 กรง มาทำเป็นโคมไฟห้อยเหนือในส่วนที่ขายขนมเปี๊ยะ เป็นการอุปมาอุปไมยในเชิงความเก่าคือกรงนกไม้ กับความใหม่คือตัวนกในกรงทำด้วยอะคริลิคใส พอเปิดไฟตัวนกจะกลายเป็นสีแดง ส่วนโต๊ะหมู่วางขนมเปี๊ยะเองใช้โต๊ะไม้ทรงจีน แต่สั่งทำใหม่ให้วางซ้อนกัน โดยขาโต๊ะสูงไม่เท่ากัน
ส่วนตรงพื้นทางเข้า มีตัวอักษรจีนตัวใหญ่ๆ หนึ่งตัว ซึ่งผมได้ไอเดียมาจากการอ่านการ์ตูนเล่าเรื่องตระกูล “ตั้งเช่งจั้ว” ที่ลูกค้าให้ผมในวันแรกที่เจอกัน ตัวอักษรจีนที่ผมนำมาใช้คือคำว่า “อดทน” คำนี้ประกอบด้วย 2 คำมารวมกัน คือ “หัวใจ” อีกตัว คือ “มีด” ตีความว่า มีดที่ปักลงหัวใจ มันเจ็บปวดต้องอดทนมาก ที่ผมอยากทำอักษรจีนอยู่บนพื้น เพื่อเป็นการเตือนใจของคนที่มารับหน้าที่ดูแลอุ้ยแจม ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ทุกครั้งที่เปิดประตูเข้ามาทำงาน จะต้องเจอคำว่า “อดทน” เสมอ เพราะที่นี่แม้นจะเล็กแต่ก็เป็นธุรกิจใหม่ของตระกูลที่ยังไม่มีประสบการณ์มาก่อน
ชั้น 2
จากโจทย์จะทำเป็นห้องอเนกประสงค์ เป็นทั้งที่นอนสำหรับญาติหรือเพื่อนฝูงมาพัก ซึ่งนอนได้ถึง 6 คน หรือเป็นที่สอนโยคะ ห้องสัมมนาเล็กๆ การออกแบบต้องสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลากหลายแบบ และต้องออกแบบตู้เก็บสัมภาระขนาดยาวตลอดห้องให้ดูมีลูกเล่น ผนังด้านหนึ่งติดทีวีเผื่อใช้ประชุม ผนังอีกด้านกรุกระจกเงาไว้เผื่อเป็นคลาสโยคะ เตรียมล็อกเกอร์เก็บของ มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำเตรียมไว้พร้อม
ชั้น 3 และชั้น 4
ในส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นห้องพัก เนื่องจากโครงสร้างอาคาร บันได ราวกันตก กระถางต้นไม้ ม้านั่ง เป็นเหล็กทั้งหมด พี่สุริยะบอกผมว่าภายในห้องพักอย่าใช้เหล็ก ขอให้ออกแบบบรรยากาศภายในห้องพักให้รู้สึกอบอุ่น ให้เปิดประตูเข้าห้องเหมือนเป็นคนละเรื่องกับภายนอก
ในส่วนโถงทางเดินหน้าห้องพักซึ่งติดกับด้านหน้าอาคาร พี่สุริยะอยากให้คนภายนอกมองเห็นผ่านตะแกรงเหล็กหุ้มอาคาร เป็นพื้นสีเขียว เวลาคนเดินผ่านจะเป็นเงาดำๆ ไม่ชัดเจน ผมเปลี่ยนสีประตูทางเข้าห้องพักเป็นสีเขียวเหมือนผนังทั้งหมด เปลี่ยนไฟทั้งหมดของส่วนนี้เป็น LED ยาวตลอดเพื่อส่องเฉพาะผนังสีเขียว เพื่อให้ภาพที่พี่สุริยะต้องการชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนภายในห้องพัก ประตูทางเข้าห้องน้ำทาสีเป็นเขียวอมเทาอีกเฉดหนึ่งเพื่อปรับโทนสีให้ดูอบอุ่นขึ้น ส่วนห้องนอนถูกยกพื้นและทำพื้นไม้ไว้อยู่แล้ว โดยต้องการให้ฟูกนอนวางบนพื้นเลย ด้วยขนาดห้องนอนที่เล็กมาก แต่ทางลูกค้าอยากให้มาตรฐานฟังชั่นใกล้เคียงกับโรงแรม เลยต้องออกแบบทุกอย่างให้มีขนาดเล็ก หรือควบรวมฟังชั่นกัน เช่น ทำมินิบาร์ รวมกับตู้เซฟ ที่วางขวดน้ำดื่ม ที่ชงชากาแฟ แก้วน้ำ มีโต๊ะแต่งตัวควบรวมกับโต๊ะอ่านหนังสือหรือทำงาน และวางไดร์เป่าผม
ผนังโดยรอบห้องหุ้มด้วยไม้เพื่อสร้างความอบอุ่น และผนังส่วนหนึ่งกรุกระจกเงาเพื่อสร้างมิติห้องจากห้องเล็กให้ดูใหญ่ขึ้น ส่วนตู้เสื้อผ้าเราทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ผมใช้พื้นที่ว่างระหว่างแผงไม้ที่หุ้มผนังกับผนังเดิม ทำเป็นตะขอเหล็กลวดลายจีนไว้เกี่ยวแขวนกับขอบผนังไม้ สำหรับแขวนเสื้อ แขวนกระเป๋าหิ้วได้ สามารถเคลื่อนย้ายตะขอเกี่ยวไปแขวนตามมุมต่างๆของผนังไม้ได้
ส่วนโคมไฟที่เลือกใช้ ชื่อรุ่น Mayday ของ Flos (ออกแบบโดย Konstantin Grcic) เพื่อให้สอดคล้องไอเดียการปรับเปลี่ยนได้ เช่น ตั้งบนโต๊ะอ่านหนังสือ, จะแขวนกับตะขอเหล็กที่ผนัง หรือจะวางไว้ข้างหัวเตียง ถึงแม้ห้องพักจะเล็ก แต่เราอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับคนที่มาพัก
ด้วยความที่ตระกูลของตั้งเซ่งจั้วนี้พยายามเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างให้เกิดงานดีไซน์ต่างๆ ขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีที่น่าเที่ยวอยู่เยอะ ของกินอร่อยอีกหลายแห่ง อุ้ยแจมแห่งนี้จะเปรียบเสมือนฮับสำหรับคนที่มาเที่ยวแล้วยังไม่ทราบว่ามีอะไรน่าสนใจ ให้กระจายออกไปสู่ที่ต่างๆได้
Reviews
There are no reviews yet.