ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา โลกของเรา มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาอย่างมากมายและรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในแง่ลบก็มีเช่นกัน คือสิ่งแวดล้อมของโลกที่ถูกทำลายลงอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็น มลภาวะอากาศ, ระบบนิเวศน์ หรือทรัพยาการธรรมชาติ เป็นต้น ภูมิสถาปัตย์ คือการออกแบบพื้นที่ภายนอกอาคาร โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่สวยงาม, ใช้งานได้จริง และส่งเสริมต่อสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นได้นั่นเอง
การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม หมายถึงการดีไซน์พื้นที่ใช้สอยภายนอก ที่ครอบคลุมตั้งแต่สวนขนาดเล็ก, สวนบนหลังคา ไปจนถึง พื้นที่เปิดขนาดใหญ่ของเมือง เลยทีเดียว ซึ่งปัญหาการจัดสรรพื้นที่ สามารถบริหารจัดการได้ด้วยการออกแบบที่ดี และยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อธรรมชาติด้วยเช่นกัน
ภูมิสถาปัตย์ คืออะไร
ภูมิสถาปัตย์ หรือภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) คือ ศิลปะการออกแบบสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร ในพื้นที่หลากหลายขนาด โดยคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม, ศิลปะความสวยงาม, วิศวกรรม, สถาปัตยกรรม และสังคมวิทยา
ภาพสวน Rooftop ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบโดยภูมิสถาปนิก
ภูมิสถาปนิก คืออะไร
ภูมิสถาปนิก นั้น มักถูกเข้าใจผิดเสมอว่าเป็นอาชีพที่ทำหน้าที่จัดสวนเท่านั้น ซึ่ง จริงๆ แล้ว ขอบเขตงานของอาชีพนี้ กว้างและมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นไปได้อีกหลายระดับ โดยในภาษาอังกฤษ เข้าให้คำนิยามหน้าที่ของอาชีพนี้ว่า “Creates and enables life between the buildings” แปลได้ว่า เป็นผู้สร้างความมีชีวิตชีวา ให้กับพื้นที่ระหว่างอาคาร เลยทีเดียว
คุณอาจพบเห็นอาชีพภูมิสถาปนิก อยู่ในทีมดีไซน์ ของงานออกแบบใหญ่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ทางเดินสาธารณะ, โครงการบ้านจัดสรร, ศูนย์การค้า, พลาซ่า, สนามเด็กเล่น, พิพิธภัณฑ์, มหาวิทยาลัย, อุทยานแห่งชาติ หรือ ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น โดยหน้าที่หลัก คือการออกแบบผังบริเวณ, ผังพื้นหลัก รวมไปถึงนโยบายของโครงการ
ผลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมนั้น สามารถคงอยู่ได้หลายทศวรรษ เพื่อทำหน้าที่สร้างความสุข, ความสนุก และแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้ใช้สอยพื้นที่ ดังนั้น จึงถือเป็นอาชีพที่มีความภาคภูมิ และสำคัญต่อโครงสร้างเมืองเป็นอย่างยิ่ง
สนามบิน Changi ที่สิงคโปร์ ออกแบบโดยภูมิสถาปนิก
ภูมิสถาปนิก สามารถให้คำปรึกษา และบริการช่วยเหลือในการออกแบบพื้นที่ ตามที่เจ้าของโครงการต้องการอย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจไว้ว่างาน ภูมิสถาปัตย์ นั้น ต้องอาศัยระยะเวลาและความเอาใจใส่ในการดูแลรักษา
ดังนั้น ถ้าเจ้าของโครงการเป็นคนที่ค่อนข้างยุ่ง ก็ควรจะเลือก Concept งานดีไซน์ Landscape แบบ Self-sustaining เพื่อมั่นใจได้ว่า พื้นที่เหล่านั้นจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องคอยดูแลบ่อยๆ
ประเภทของงาน
ตัวอย่างงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมนั้นกว้าง และมีประเภทที่หลากหลายมาก โดยเราขอยกตัวอย่างประเภทงานคร่าวๆ ดังนี้
- ออกแบบสวนสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน
- พัฒนาความยั่งยืนหรือ Sustainable
- การบริหารจัดการน้ำฝน
- งานออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของราชการ
- สวนพฤกษศาสตร์, สวนรุกชาติ และอุทยานแห่งชาติ
- สนามเด็กเล่น, สนามกอล์ฟ, สวนสนุก และ สถานกีฬา
- บริเวณที่อยู่อาศัย
- โครงการบ้านจัดสรร
- ทางหลวง, โครงสร้างคมนาคม และสะพาน
- พื้นที่ในเขตเมืองอย่าง จตุรัส หรือทางเดินต่างๆ
- งานฟื้นฟูสถานที่ทางประวัติศาสตร์
- อ่างเก็บน้ำ, เขื่อน, โรงไฟฟ้า และเขตอุตสาหกรรมต่างๆ
- บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
- พัฒนา และฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่ง ชายหาด
- พัฒนาระบบนิเวศน์
- วางแผนและพัฒนาผังเมือง
จะเห็นได้ว่าขอบเขตงานของ ภูมิสถาปัตย์ นั้น ค่อนข้างกว้าง และหลากหลายมากๆ ดังนั้น อาชีพภูมิสถาปนิกในหลายๆ ประเทศ จึงมักจะสามารถแตกย่อย แบ่งไปเป็นสายงานแยกกันได้อีก อาทิเช่น Landscape Manager, Landscape Scientist หรือ Landscape Planner เป็นต้น
ความสำคัญ
ภูมิสถาปัตย์ เป็นสาขางานออกแบบที่มีประโยชน์ต่อเจ้าของโครงการเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลายๆ คน อาจจะยังไม่แน่ใจ ว่าจำเป็นต้องใช้งานดีไซน์สาขานี้หรือไม่ เราขอรวบรวมหัวข้อ ความสำคัญของ Landscape Architecture เป็นตัวอย่างมาให้อ่านกันในบทความนี้ ประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
ช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน คนทั่วไปมักจะไม่ค่อยตระหนัก ขั้นตอนการผลิตวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมนั้น ส่งผลกระทบค่อนข้างสาหัสกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์, เบาะเก้าอี้ หรือ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น โดยมลภาวะทางอากาศ เป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะก๊าซพิษ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตวัสดุต่างๆ นั่นเอง
ด้วยงานออกแบบ ภูมิสถาปัตยกรรม ที่ดี จะเป็นตัวช่วยให้สิ่งแวดล้อมถูกปรับให้ยั่งยืนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การดีไซน์พืชสีเขียว ไว้รอบบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ช่วยให้ค่าระดับคาร์บอนไดออกไซต์ถูกควบคุมไม่ให้สงจนเกินไป
การใช้ต้นไม้เข้าช่วย มีเทคนิคที่หลากหลายมากมายที่นำมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้พืชภายในอาคารอย่าง ต้นกระบองเพชร หรือตระกูลเฟิร์น หรือจะใช้เทคนิค Phytoremediation เพื่อกำจัดสารปนเปื้อนในดินและน้ำบาดาล เพื่อทำการฟื้นฟูให้พื้นที่นั้นๆ ปลอดสารพิษ
ช่วยสร้างพื้นที่สาธารณะที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน
หลายๆ คนชอบคิดว่า ภูมิสถาปัตย์ คืองานเกี่ยวกับการจัดสวน และเลือกใช้ต้นไม้ เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยในการออกแบบนั้น ต้องมีเรื่องของ ภูมิอากาศ, นิเวศวิทยา และการวิเคราะห์พื้นที่โดยรอบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเป็นการหาโซลูชั่น สำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่ละแห่งที่แตกต่างกันนั่นเอง
แต่ละพื้นที่นั้น ย่อมมีปัญหามลภาวะที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ต้องถูกนำมาวิเคราะห์โดยวิศวกรผังเมือง ร่วมกับภูมิสถาปนิก ร่วมกัน เพื่อเลือกดีไซน์ผลลัพธ์ที่ช่วยฟื้นฟูสภาพอากาศ, ช่วยลดความร้อนของพื้นที่, กำจัดสารพิษ และสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศน์ ถือเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน แต่ก็สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ธรรมชาติโดยรอบโครงการ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายนั้น อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้โดยทันที แต่งานออกแบบ ภูมิสถาปัตย์ ที่ดี สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูแก้ไข ที่อาจใช้เวลา แต่ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
บริการจัดการปริมาณน้ำฝน
การกักเก็บ และระบายน้ำฝนนั้น ถือเป็นโซลูชั่นที่สำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทั่วโลก การใช้ระบบและเครื่องมือที่ดี ก็สามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฝนที่ตกลงมา ควรจะไหลซึมลงดินสู่แหล่งน้ำบาดาลด้านใต้ ซึ่งแหล่งน้ำบาดาลนั้น ถือเป็นแหล่งน้ำเสริมที่สำคัญสำหรับหลายๆ พื้นที่บนโลก
อย่างไรก็ตาม หลายๆ พื้นที่ ที่มีลักษณะพื้นเป็นคอนกรีต จะไม่สามารถปล่อยให้น้ำฝนไหลผ่านลงสู่ใต้ดินได้อย่างสะดวก
การใช้เทคนิคงานออกแบบ ภูมิสถาปัตย์ เข้ามาปรับใช้ ก็สามารถช่วยให้ปริมาณน้ำสามารถไหลซึมลงใต้ดินได้รวดเร็วมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า Landscape Architecture ก็มีความสำคัญในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเช่นกัน
เป็นนวัตกรรมที่เสริมสร้างสภาพแวดล้อม
หลายๆ คน คงรู้จัก หรือเคยได้ยินนวัตกรรม สวนแนวตั้ง, สวนบนกำแพง, สวนบนดาดฟ้า และอื่นๆ ที่เป็นการนำธรรมชาติเข้ามาผสมผสานกับพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้นั้น ล้วนถูกคิดค้น และพัฒนาโดยภูมิสถาปนิกทั้งนั้น เพื่อเป็นการผสมผสารสไตล์ความเป็นอยู่สมัยใหม่ เข้ากับการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี
ควบคุมสภาพอากาศ
เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาโลกร้อนนั้น ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็ว่าได้ ในพื้นที่เมือง การตัดไม้ทำลายป่า และพัฒนาสิ่งก่อสร้างคอนกรีต ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสภามภูมิอากาศ ผลลัพธ์ที่ได้คืออุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยงานออกแบบ ภูมิสถาปัตย์ ที่ดี ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง Solution ที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
ในเมืองใหญ่ๆ ระบบนิเวศน์เล็กๆ อย่างสวน Rooftop หรือสวนสาธารณะขนาดเล็กๆ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาสภาพอากาศและลดอุณหภูมิโดยรวมได้อย่างดี โดยภูมิสถาปนิก ต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมพร้อมเลือกใช้ดีไซน์ที่เหมาะสมกับสภาพเมืองในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถ้างานออกแบบ ภูมิสถาปัตยกรรม เริ่มเข้ามามีบทบาทกับสังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างแน่นอน
พัฒนาพื้นที่สาธารณะภายนอกอาคาร
สำหรับพื้นที่ในเขตเมืองใหญ่ สวนสาธารณะ และพื้นที่ภายนอกอาคาร ถือเป็นปอดของเมืองเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่นเมือง New York ของสหรัฐอเมริกา ก็จะมีสวน Central Park ที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่สำคัญ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับสิ่งก่อสร้างคอนกรีตในเมืองที่หนาแน่น
Central Park ที่ New York ออกแบบโดยภูมิสถาปนิก
พื้นที่เปิดในเมือง สามารถพัฒนาให้เป็นบริเวณที่ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
พัฒนาสุขภาพจิตมนุษย์ทั่วไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ สามารถฟื้นฟูเยียวยาจิตใจมนุษย์เราให้สงบได้อย่างดี ซึ่งในสังคมเมืองใหญ่ การจะมองหาพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพนั้น ค่อนข้างยากลำบาก โดยภูมิสถาปนิก สามารถเข้ามาช่วยเหลือเพื่อเพิ่มบริเวณเหล่านี้ได้
ประวัติความเป็นมา
ในยุคก่อนหน้าปี ค.ศ. 1800 งาน ภูมิสถาปัตย์ สมัยนั้นจะถูกเรียกว่า Landscape Gardening ซึ่งหน้าที่คือการออกแบบผังพื้นให้กับสวนสีเขียว สำหรับ คฤหาสน์, พระราชวัง, ที่ดินของชนชั้นสูง, ทำเนียบรัฐบาล และศาสนสถาน เป็นหลัก
บุคคลแรกสุดที่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ออกแบบ Landscape ได้แก่ Joseph Addison ในปี 1712 เลยทีเดียว
คำว่า ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) ถูกเรียกใช้ครั้งแรกโดย Gilbert Laing Meason ในปี 1828 และถูกนำมาขยายความโดย John Claudius Loudon โดยเขาได้นำคำนี้มาขยายความในสารานุกรม และหนังสือที่เขียนเองในปี 1840 ชื่อว่า Landscape Gardening and Landscape Architecture of the Late Humphry Repton
สวนในพระราชวัง Versailles ฝรั่งเศส
ออกแบบโดยภูมิสถาปนิกสมัยก่อน
กำเนิดภูมิสถาปนิก
ศาสตร์ของการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ถูกเผยแพร่ไปยั่งทั่วโลก จนในปี 1863 ก็ก่อกำเนิดอาชีพ ภูมิสถาปนิก หรือ Landscape Architect ขึ้น และตั้งแต่เวลานั้นจนถึงปี 1900 อาชีพภูมิสถาปนิกนี้ ก็ถูกนำไปเรียกใช้อย่างแพร่หลาย และทยอยถูกนำมาลงทะเบียนให้เป็นที่ยอมรับตามสมาคมสถาปนิกทั่วโลก
บทสรุป
จะเห็นได้ว่า สาขาวิชาชีพ ภูมิสถาปัตย์ นั้น มีขอบเขตการทำงานที่มากกว่าแค่ออกแบบสวนให้สวยงาม โดยผลงานดีไซน์ของภูมิสถาปนิก สามารถเป็นหนึ่งใน Solution ที่ช่วยพัฒนาความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมทั่วโลกได้เลยทีเดียว สำหรับใครที่สนใจประกอบวิชาชีพนี้ สิ่งที่ต้องมีอย่างแรก คือความสนใจและเข้าใจในการพัฒนาธรรมชาติ รวมถึงความสามารถในการจัดสรรพื้นที่ และออกแบบดีไซน์ Space ต่างๆ ได้อย่างสวยงามมีประสิทธิภาพ
ที่มาของเนื้อหาบางส่วน: 10 Reasons Why Landscape Architecture is Important