โครงสร้างไม้ไผ่ วัสดุที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสถาปัตยกรรมเอเชีย และตัวอย่างอาคาร

โครงสร้างไม้ไผ่

บทความนี้ เราจะมาพูดถึง โครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุที่ถูกมองว่าเป็นอนาคตของสถาปัตยกรรมในประเทศแถบเอเชีย

ชาวฟิลิปปินส์ เชื่อว่ามนุษย์คนแรกของโลก กำเนิดขึ้นมาจากข้อต่อของแท่งไม่ไผ่, ชาวจีน เชื่อว่าต้นอ้อย เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมที่มีคุณค่า, ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าไม้ไผ่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรื่อง ในขณะที่ชาวอินเดียเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ

จะเห็นได้ว่า เรื่องราวและความเชื่อเกี่ยวกับต้นไผ่นั้น ได้ถูกปลูกฝังและผูกพันธุ์กับชาวเอเชียมาอย่างยาวนาน ทำให้เราสามารถเห็นอาคารตั้งแต่ยุคสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันหลายๆ แห่ง ที่มีลักษณะรูปลักษณ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่ นั่นเอง

โครงสร้างไม้ไผ่ คืออะไร

ไม้ไผ่ เป็นพืชไม้ยืนต้นที่มีความแข็งแรงทนทาน มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ภายในโล่งโปร่ง มักเจริญเติบโตและพบเห็นได้ทั่วไปในแถบอากาศเขตร้อน สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างได้หลากหลายมากมาย สามารถรับแรงอัด เทียบเท่าได้กับอิฐและคอนกรีต ในขณะที่สามารถรับแรงดึงได้เทียบเท่ากับเหล็ก เลยทีเดียว

ถึงแม้ตามธรรมชาติ พืชชนิดนี้จะเติบโตในเขตร้อนชื้นส่วนมาก แต่การนำมาเพาะพันธุ์ ปลูกเอง ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ราคาถูก และไม่ต้องดูแลรักษามากนัก ทำให้ถือเป็นวัสดุที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ก่อสร้างอาคารอย่างยิ่ง โดย โครงสร้างไม้ไผ่ นิยมใช้ก่อสร้างอาคารราคาประหยัด ที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

ในฟิลิปปินส์ วัสดุประเภทนี้นิยมนำไปใช้เป็นวัสดุมาตรฐานในการสร้างกระท่อม หรือหลังคาพักพิงเล็กๆ ในขณะที่ประเทศจีน มีการนำไปใช้สร้างเป็นโครงสร้างหลัก เช่นรองรับสะพาน เป็นต้น

ตัวอย่าง

เริ่มเป็นที่นิยมใช้แพร่หลาย

ในยุคปัจจุบัน โครงสร้างไม้ไผ่ เป็นวัสดุที่ถูกนำไปใช้ในแพร่หลายในแง่ของการออกแบบงานและก่อสร้างสถาปัตยกรรม ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้เห็นทั่วไปในอาคารสมัยใหม่ โดยพืชชนิดนี้ มีหลายพันธุ์ และสามารถพบเห็นได้ตามสถานที่หลากหลายมากมาย ตั้งแต่ป่าร้อนชื้นในอินโดนิเซีย ไปจนถึงยอดเขาที่หนาวเหน็บบนทิเบต

ในทวีปเอเชีย ต้นไผ่ ถือเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และหามาใช้งานได้ง่ายดาย ถึงแม้ตัวมันเองจะมีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถเทียบเท่ากับวัสดุสังเคราะห์สมัยใหม่อย่าง ซีเมนต์ และเหล็ก ได้ก็ตาม

ข้อเสียเปรียบ

ปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม้ไผ่นั้น อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่าวัสดุสมัยใหม่ เพราะปัญหาหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น การขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้วัสดุ, แนวคิดทางวัฒนธรรม, ข้อจำกัดทางตัว Material และ ราคาของวัสดุ นั่นเอง

เพราะตัวต้นไผ่นั้น มีการเติบโตขึ้นมาตามธรรมชาติ ทำให้มีรูปทรงและขนาดที่ไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่นอน จึงทำให้การกำหนดมาตรฐานการใช้งานและก่อสร้างนั้นเป็นไปได้ยาก

กฏหมายอาคารที่ซับซ้อน และเข้มงวดขึ้นในปัจจุบัน ก็ถือเป็นอีกอุปสรรคในการเลือกใช้ โครงสร้างไม้ไผ่เช่นกัน และการก่อสร้างจริง ก็ต้องอาศัยทักษะ โดยเฉพาะการใช้งานร่วมกับวัสดุทั่วไปอย่างเหล็ก คอนกรีต และกระจก เป็นต้น

ข้อดีของวัสดุ

การเข้ามาของแนวคิด “ความยั่งยืนทางสถาปัตยกรรม” ที่เป็นที่รณรงค์กันมากขึ้นทั่วโลก ทำให้ไม้ไผ่ ได้รับความสนใจจากสถาปนิกทั่วโลกมากขึ้น โดยตัวพืชชนิดนี้ มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนที่ดีมาก ถือเป็นกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง ผลลัพธ์คือ ตัวมันเองสามารถช่วยดักจับมลพิษทางอากาศ และช่วยฟื้นฟูความสะอาดให้กับผืนดิน

อาคารสมัยก่อนที่สร้างจาก โครงสร้างไม้ไผ่ มักถูกดีไซน์ให้มีความพื้นบ้าน กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ในขณะที่อาคารยุคใหม่ มักถูกออกแบบเพื่อความสวยงามมากขึ้น โดยยังคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ออกแบบงาน

นักวิชาการผังเมืองหลายๆ ประเทศในเอเชีย ต่างเริ่มกังวลถึงปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่การเจริญเติบโตของเมืองนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไป โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก อย่าง จีน อินเดีย บังคลาเทศ และ อินโดนีเซีย เป็นต้น

ประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐาน ให้ครอบคลุมกับจำนวนประชากรที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาที่ตามมา ก็คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ต้นไผ่คือคำตอบ

ต้นไผ่ ทั้งที่เติบโตตามธรรมชาติ และทั้งที่ถูกนำมาแปรรูป สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ด้วยความสามารถที่เติบโต และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วของต้นไผ่ ช่วยให้ตัวมันเองกลายเป็นวัสดุที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ก่อสร้าง ในเมืองที่ขยับขยายอย่างรวดเร็วของเอเชีย ตัวพืชชนิดนี้ สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายในเพียงเวลา 3-5 ปี หลังเริ่มปลูก ในขณะที่ไม้สำหรับก่อสร้างประเภทอื่นๆ อาจต้องรอหลายสิบปี เช่น ในเนปาลและบังคลาเทศ ต้นไผ่ ถูกนำมาใช้ในการสร้างศูนย์พักพิง เพื่อบรรเทาสาธารณภัย เพราะหาได้ง่ายทั่วไป แข็งแรง และราคาถูก

และการที่ไผ่ เป็นพืชที่สามารถหาได้ทั่วไป, แข็งแรง และยืดหยุ่น ทำให้ ไม้ไผ่ เป็นวัสดุก่อสร้างราคาถูกสำหรับทวีปเอเชีย โดยสามารถเป็นตัวเลือกอีกอย่างแทนที่การใช้ไม้ธรรมชาติ โดยให้คุณภาพได้ไม่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถพบเห็น โครงสร้างไม้ไผ่ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในที่อยู่อาศัยราคาถูก จากหลายๆ สถานที่

บ้าน

เมืองหลายๆ เมืองในเอเชีย กำลังพบกับปัญหาด้านวิ่งแวดล้อมที่รุนแรง เช่น มลพิษทางอากาศ, ความร้อนที่สูงขึ้น, สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ การใช้วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเพียงเล็กน้อยอย่าง โครงสร้างไม้ไผ่ ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยรักษ์โลกได้อย่างดี พืชชนิดนี้ ยิ่งถูกเก็บเกี่ยวเท่าไหร่ ก็ยิ่งเติบโตขึ้นมามากขึ้นเท่านั้น ช่วยสร้างที่อยู่อาศัยให้สัตว์ป่า ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ และเป็นการช่วยเหลือชุมชนพื้นเมืองให้มีรายได้

ไม้ไผ่นั้น มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนที่ดีมาก ถายใต้เปลือกแข็งของมัน ทำให้ตัวมันเองถือเป็น Negative Carbon Footprint ซึ่งดีต่อผืนดินธรรมชาติอย่างมาก

การนำมาใช้งาน

ในส่วนของอาคารสูง ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ๆ อย่าง มุมไบ, มะนิลา, โตเกียว และปักกิ่ง การเลือกใช้ ไม้ไผ่มาก่อสร้าง ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องมีการผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ อย่าง เหล็ก คอนกรีต หรือ ไม้

ข้อต่อของโครงสร้าง ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดใน Structure ของอาคาร และมักทำหน้าที่รับแรงด้วยเหล็ก แต่สำหรับ โครงสร้างไม้ไผ่ สามารถใช้วิธีการนำต้นไผ่มาประกอบกันเป็น 3 เหลี่ยม ที่เรียกว่า Triangulation ซึ่งให้ความแข็งแรงในการรับน้ำหนักได้พอสมควรเลยทีเดียว

ในส่วนของตัววัสดุ ไม้ไผ่-คอนกรีต และ ไม้ไผ่-ไม้ ถือเป็น Material แบบ Hybrid ที่เป็นที่นิยมนำมาเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างอาคารไม้ไผ่เช่นกัน โดยให้ความแข็งแรง แต่ยังคงซึ่งความพื้นเมือง และรักษ์โลก

คุณสมบัติ

ส่งเสริมความเป็นพื้นบ้าน

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของต้นไผ่ในเอเชีย คือการสร้างเสริมความเป็นพื้นบ้านให้กับสถาปัตยกรรมถิ่น เพราะตั้งแต่สมัยอดีตกาล อาคารที่สร้างจากไม้ไผ่ มักสื่อถึงความสงบ เป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับชาวเอเชีย และเพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับดีไซน์ยุคปัจจุบัน สถาปนิกหลายๆ คน ก็มีการนำไม้ไผ่มาออกแบบควบคู่กับกับ กระจก และโครงสร้างเหล็ก ที่ทนทานกว่าต้นไผ่

ถึงเวลาแล้ว ที่สถาปนิกในเอเชีย จะมีการตีความคำว่า “Modern” ใหม่ และเริ่มนำไม้ไผ่เข้ามาผสมผสานในงานสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และความเข้าใจใน โครงสร้างไม้ไผ่ ทำให้ดีไซน์ประเภทนี้ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว เพราะต้นไผ่ เป็นวัสดุ ที่แสดงถึงความเป็นรากเหง้าของชาวเอเชีย และสื่อถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย

ตัวอย่างสถาปัตยกรรมไม้ไผ่

ในยุคสมัยใหม่ หน้าที่ของ โครงสร้างไม้ไผ่ นั้นมีขอบเขตที่กว้างมากขึ้น โดยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในดีไซน์เรียบง่าย เป็นกระท่อมแบบสมัยก่อนอย่างเดียว แต่สถาปนิก หลายๆ คน เริ่มหันมาหยิบจับไปใช้ดีไซน์ออกแบบกับบ้านสมัยใหม่ ร้านอาหาร และรีสอร์ท ซึ่งให้ความสง่างาม และยั่งยืน ในบทความนี้ Baabdd ขอยกตัวอย่างสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ที่สวยงามให้ดูกันคร่าวๆ ดังนี้

วัสดุ

Bamboo Courtyard Teahouse – ประเทศจีน

ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำ เมือง Yangzhou โครงการ Bamboo Courtyard Teahouse ประกอบไปด้วยก้อนอิฐที่ถูกปิดทับอีกทีด้วยท่อนไม้ไผ่จำนวนมาก เพื่อสร้างพื้นผิวและแสงเงาที่สวยงาม วัสดุอย่างต้นไผ่ ช่วยให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว และความถ่องแท้ ให้กับตัวโครงการทั้งหมด ทำให้เป็นพื้นที่นี้เป็นที่นิยมให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมถ่ายรูป โดยเฉพาะเวลากลางคืน โครงการนี้ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกสัญชาติจีน HWCD Associates

โครงสร้างไม้ไผ่

Kontum Indochine Cafe – ประเทศเวียดนาม

ร้านอาหารและโถงจัดเลี้ยงของโรงแรม Kne Hotel ที่ออกแบบโดย Vo Trong Nghia Architects โดยสถาปนิก ได้รับแรงบันดาลใจมากจากตะกร้าสานพื้นบ้านของเวียดนาม โดยได้หยิบดีไซน์มาใช้กับเสา 15 ต้นในอาคาร เพื่อรองรับโครงสร้างหลังคา ตัวหลังคาประกอบไปด้วย Plastic Panels ปิดทับตัวไม้ไผ่อีกที

โครงสร้างไม้ไผ่

Sharma Springs – ประเทศอินโดนีเซีย

สถาปนิก IBUKU ออกแบบ Sharma Springs ให้เป็นเสมือนประตูทางเข้าสู่ป่า สำหรับครอบครัว Sharma โดยเป็นบ้านเดี่ยวขนาด 750 ตร.ม. ที่สร้างโดยไม้ไผ่เกือบจะทั้งอาคาร มีจำนวน 6 ชั้น และ 4 ห้องนอน มีห้องสมุด และห้อง Playroom ที่ปิดกั้นด้วยกระจก เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเปิดแอร์ ในขณะที่ห้องทานข้าว ห้องครัว เป็นแบบ Open-Air

สถาปัตยกรรม

Bangkok Tree House Resort – ประเทศไทย

รีสอร์ทแบบ Eco-Friendly ตั้งอยู่ชานเมืองกรุงเทพ ประเทศไทยของเรานี่เอง เป็นโครงการที่มีฟีเจอร์ส่งเสริมความยั่งยืนมากมาย เช่น มีแผงโซลาร์เซลล์ และมีการกักเก็บพลังงานลม เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานหลักของอาคาร ในส้วนตัวพื้น และผนัง ของอาคาร สร้างจากวัสดุ โครงสร้างไม่ไผ่ เคลือบฉนวนอีกที นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์กักเก็บน้ำฝนอีกด้วย ถือเป็น Green Building ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกด้าน จริงๆ ครับ

> อ่านบทความ Green Building หรืออาคารสีเขียว คืออะไร

อาคารไม้ไผ่

Naman Retreat – ประเทศเวียดนาม

ไม้ไผ่พื้นบ้าน 2 พันธุ์ ถูกนำมาใช้งานผสมผสานกันเป็นโครงสร้างให้กับโครงการหอประชุมแห่งนี้ ออกแบบโดย Nang Vo Trong Nghia เป็นอาคารที่มี Floor to Ceiling สูงสุดถึง 13.5 เมตร โดยใช้ โครงสร้างไม้ไผ่ เป็นวัสดุหลัก ความพิเศษคือ สามารถสร้างได้แข็งแรงเสมือนอาคารร่วมสมัย ในราคาที่ประหยัดมากๆ

ดีไซน์

Hay Hay Restaurant and Bar – ประเทศเวียดนาม

ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ใน Naman Retreat Resort มีพื้นที่รับประทานอาหารที่นั่งได้ 350 ที่นั่ง โดยตัวอาคารประกอบด้วยหลังคาไม้ไผ่แบบโดมจำนวน 2 โดม และเสาไม้ไผ่จำนวน 29 ต้นเพื่อรองรับตัวหลังคา ในส่วนของบาร์ ก็มีการล้อรูปทรงจาก Tower มาเป็นดีไซน์แบบ Hyperboloid Shell เช่นกัน

สรุป

จะเห็นได้ว่า โครงสร้างไม้ไผ่ ถือเป็นวัสดุที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว โดยในอดีต มันอาจถูกมองว่ามีความน่าเบื่อ ไม่ทนทาน และไม่หรูหรา แต่หากสถาปนิกสามารถหยิบจับมาผสมผสานร่วมกับดีไซน์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับวัสดุสังเคราะห์ ก็สามารถทำให้สถาปัตยกรรมไม้ไผ่ เป็นอาคารที่มีความสวยงาม น่าสนใจ แต่ยังคงมีความพื้นบ้าน และรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นกัน